คราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ

การตรวจคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery calcium scoring) คือการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ตรวจหาหินปูน (calcified plaque) ที่บริเวณหลอดเลือดแดงโคโรนารี ซึ่งเป็นหลอดเลือดแดงหลักที่ส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ โดยหินปูนที่ตรวจจะบ่งชี้ถึงความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary artery disease) ยิ่งพบมากยิ่งบ่งบอกถึงความเสี่ยงที่สูงมากขึ้นตามด้วย โดยภาพหินปูนที่หลอดเลือดแดงโคโรนารี จะแปลผลเป็นตัวเลข หรือเรียกว่า Coronary calcium score หากตรวจไม่พบหินปูนที่หลอดเลือดแดงโคโรนารี่ หรือ Coronary calcium score เป็น 0 จะบ่งชี้ว่า ความเสี่ยงที่จะมีหลอดเลือดหัวใจตีบหรือโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันต่ำมาก ในทางตรงกันข้ามหากค่า Coronary calcium score สูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าที่มากกว่า 400 จะบ่งชี้ว่าความเสี่ยงที่จะมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ภายในระยะเวลา 2-5 ปีสูงมาก แม้ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม

การตรวจคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ

ประโยชน์ของการตรวจหินปูนที่เกาะหลอดเลือดหัวใจ คืออะไร?

การตรวจพบหินปูนที่หลอดเลือดแดงโคโรนารี่ จะทำให้เราทราบถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในอนาคตว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะเมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับความเสี่ยงพื้นฐานของแต่ละคน เช่น อายุ โรคร่วมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เช่น ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง หรือประวัติสูบบุหรี่ ซึ่งจะนำพาไปสู่การควบคุมและรักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดโอการเกิดโรคหัวใจตีบหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในอนาคตได้

กระบวนการตรวจมีความยุ่งยากหรือเจ็บตัวหรือไม่

  • ข้อดีของตรวจหาหินปูนที่หลอดเลือดแดงโคโรนารี่
  1. เป็นการตรวจที่ไม่เจ็บตัว ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
  2. ไม่ต้องฉีดยาหรือสารทึบรังสี
  3. ไม่ต้องมีการเตรียมตัวเป็นพิเศษ
  4. เป็นการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ซึ่งผู้ตรวจได้รับรังสีในปริมาณน้อยมาก

ใครที่ควรเข้ารับการตรวจหินปูนที่หลอดเลือดแดงโคโรนารี่บ้าง

  • ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง สูบบุหรี่ อ้วน หรือมีประวัติคนในครอบครัวเจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ